โปรแกรมและระบบบริหารงานโรงแรม มีอะไรบ้าง ?
ทราบกันหรือไม่ว่าระบบสารสนเทศ / ระบบคอมพิวเตอร์พื้นฐาน หรือ โปรแกรมที่ใช้ในโรงแรมมีอะไรบ้าง ?
ธุรกิจโรงแรมอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาชีพธุรกิจด้านการบริการ (Hospitality Industry) ซึ่งผมเองคุ้นชื่อแค่ Hospital แฮ่ๆ
กลับมาตอบคำถามด้านบน ติ๊กต๊อก ๆ ตั้งแต่ก่อนยุค Thailand 4.0 คงมีการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศในโรงแรมเป็นหลักอยู่แล้ว
โดยสามารถแบ่งเป็นด้านหลัก ๆ ได้ 3 ด้าน ดังนี้
- ด้านการบริหาร (Management) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการงานเพื่อใช้ในการวางแผน ควบคุม ปรับปรุง และพัฒนากิจการโรงแรม
- ด้านการตลาด (Marketing) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำการตลาด ประชาสัมพันธ์โรงแรมหรือโปรโมชั่นที่จัดตามฤดูกาลต่าง ๆ เป็นต้น
- ด้านการบริการ (Service) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในงานด้านการบริการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า เช่น การจองห้องพัก ห้องประชุมทางไกลผ่านอินเตอร์เนต เป็นต้น
(ระบบคอมพิวเตอร์ อาจจะเรียกว่า โปรแกรมโรงแรม / ระบบบริหารงานโรงแรม หรือ ระบบจัดการโรงแรม ก็แล้วแต่สถานที่ ความคุ้นชินของพนักงาน แต่แก่นความหมายก็เหมือนกัน เพียงแต่ระบบคอมพิวเตอร์จะครอบคลุมกว่า เพราะรวมเอาทั้งส่วนฮาร์ดแวร์/ซอฟแวร์ และ เครือข่าย เข้ามารวมให้ใช้งานได้)
หากมองในมุมด้านการบริการลูกค้า ซึ่งมีการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหน้าบ้าน และ ส่วนหลังบ้าน จะแบ่งระบบคอมพิวเตอร์ในโรงแรมได้ดังนี้
1. ระบบสำหรับงานบริการส่วนหน้า
1.1 ระบบบริการส่วนหน้า (Front Office System)
มีชื่อย่ออีกชื่อที่เรียกกัน คือ PMS (Property Management System หรืออาจใช้ Primary Management System)
PMS เป็นระบบพื้นฐานและเป็นระบบหลักสำหรับบริหารจัดการโรงแรม หัวใจของระบบนี้คือการบริหารจัดการห้องพักเป็นสำคัญ โดยมีหน้าที่หลักๆ ประมาณนี้ (บางซอฟแวร์อาจมีไม่ครบ หรือบางหน้าที่อยู่ในซอฟแวร์ส่วนอื่น)
- รองรับการจองห้องพักล่วงหน้า
- รองรับ Check in – Check Out ของลูกค้า
- รองรับการจองห้องพัก ผ่านทางเว็บไซต์
- ควบคุมราคาและจำนวนการขายผ่านระบบออนไลน์
- รองรับลูกค้าทั้งเป็นบุคคลและเป็นกลุ่มทัวร์
- รองรับค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับระบบบัญชี
- รองรับการทำงานด้านแคชเชียร์
- รองรับการทำงานที่เชื่อมต่อกับแผนกอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร, มินิบาร์
- รองรับการตรวจสอบ/การ Audit ข้อมูล ให้เป็นมาตรฐานสากลทั่วไป
ข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีอยู่ใน PMS จะเป็นข้อมูลรายวันที่ได้มาจาก Front Office ที่เป็นผู้สร้างและป้อนข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและบริหารเกี่ยวกับการจอง การลงทะเบียนผู้เข้าพัก ข้อมูลผู้เข้าพัก สถานะห้องพัก ค่าใช้จ่ายของแขกที่เข้าพัก เป็นต้น
แผนกงานต้อนรับส่วนหน้าในโรงแรม (Front Office) คือ ? / มีหน้าที่อะไรบ้าง ? / มีตำแหน่งอะไรบ้าง ?
<<คำถามพวกนี้ไว้ค่อยสรุป แล้วทำลิงค์เป็นอีกบทความไว้น้าา>>
1.2 ระบบบริหารจัดการร้านอาหาร (Restaurant Point Of Sales)
เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดการห้องอาหารเป็นหลัก เช่น การจัดการโต๊ะ โพสเมนูสั่งอาหาร ออกรายการครัวหรือบาร์ เช็คบิล เป็นต้น มีการทำเทคโนโลยีเกี่ยวกับทัชสกรีน คีออส มาร่วมด้วยในการทำงาน เป็นอีกหนึ่งระบบที่มักควบคู่กับระบบบริการส่วนหน้า เพราะทั้งสองระบบจะต้องเชื่อมต่อถึงกันได้ โดยเฉพาะสามารถตรวจสอบได้ว่า ลูกค้าที่มาทานอาหารนั้น เป็นแขกที่มาพักจริงหรือไม่ ? (โดยปกติลูกค้าที่มาพักโรงแรม มักจะไม่ชำระเงินทันทีหลังรับประทานอาหาร แต่จะชำระตอนแจ้งออก หรือ check-out ทีเดียวเลย)
บางโรงแรมนำไปประยุกต์ใช้กับงานส่วนอื่น ๆ เช่น ห้อง Spa, Health Club , ร้าน Gift Shop โดยเพียงแค่เปลี่ยนรายการ item สินค้าที่ขายเอง
1.3 ระบบบริหารจัดการแผนกขาย (Sales & Catering)
ระบบสารสนเทศงานขาย เป็นระบบงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานเกี่ยวกับรายการธุรกรรมงานขาย อันได้แก่การบันทึก และจัดเก็บข้อมูลคำสั่งซื้อของลูกค้า และส่งต่อไปเพื่อนำไปจัดทำเป็นใบส่งสินค้า ใบกำกับภาษี ใบแจ้งหนี้ รวมทั้งช่วยในการจัดเก็บข้อมูลการรับคืนสินค้าด้วย ประมาณนี้
โรงแรมส่วนใหญ่ ถ้าใช้ Opera PMS (ในส่วนของ Front Office) ก็มักจะใช้สำหรับโปรแกรมในการขายเป็น Opera S&C เพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อข้อมูลของทั้งสองระบบนั้นเอง ปัจจุบันอยู่ภายใต้บริษัท Oracle ที่ Acquire บริษัท MICROS Systems เมื่อ 8 Sep 2014
2. ระบบบริการส่วนหลัง
2.1 ระบบบริหารบัญชี (Accountant System)
การทำบัญชีเพื่อการจัดการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้งบการเงินที่ถูกต้องและรวดเร็วเพื่อมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจและวางแผนภาษีโดยบริษัทส่วนใหญ่ มักแบ่งงานบัญชีออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
1.1 IC ( Inter-Company) มีหน้าที่บันทึกรายได้-ค่าใช้จ่าย / เคลียร์บัญชีระหว่างลูกค้าบริษัทภายในเครือฯ ที่มีบัญชีระหว่างกัน
1.2 AR (Account Receivable) มีหน้าที่บันทึกบัญชีลูกหนี้ จัดทำบิลขาย / เรียกเก็บเงิน / เคลียร์บัญชีลูกค้า ฯลฯ
1.3 AP (Account Payable) มีหน้าที่บันทึกบัญชีด้านเจ้าหนี้ / การตั้งหนี้ (เจ้าหนี้) / ตรวจสอบขาจ่าย
1.4 GL (General Ledger) มีหน้าที่ทำบัญชีทั่วไป (ที่นอกเหนือจากงาน AP/AR/IC) และงานคำนวณภาษี ส่งกรมสรรพากร (สรุปและนำส่งภาษีทุกประเภท) จัดทำงบการเงินต่างๆ ดูแลบัญชีในภาพรวม เป็นต้น
หมายเหตุ อาจมีแบ่งประเภทบัญชี ซอยเพิ่มเติม ได้ดังนี้
* Cashier มีหน้าที่จ่ายเงิน / บันทึกขาจ่าย
* Payroll มีหน้าที่บันทึกบัญชีเกี่ยวกับพนักงาน
ระบบบัญชีในโรงแรม อาจมีชื่อภาษาอังกฤษอื่น ๆ ได้แก่ Financial Management System (FMS) หรือ Back Office Manage System (BOS) มีหน้าที่ช่วยสนับสนุนการคิดคำนวณทางด้านบัญชีแยกประเภทต่างๆ ภายในโรงแรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานในด้านบริหารรายได้ค่าห้องพักและบริการอื่นๆ ตลอดจนการบริหารทรัพย์สินต่างๆของโรงแรมที่ใช้ในการคิดคำนวณทางด้านบัญชีต่างๆ อาทิ สินค้าคงคลัง(Inventory) สินทรัพย์(Assets) เป็นต้น ระบบนี้อาจทำงานได้ทั้งแบบอิสระหรือเชื่อมกับระบบส่วนหน้า PMS เพื่อจัดการบัญชีค่าใช้จ่ายของแขกได้ด้วย
2.2 ระบบบริหารงานบุคคล (Human Resource Management)
HRM เป็นระบบซอฟต์แวร์ช่วยงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ภายในโรงแรมให้มีประสิทธิภาพ เช่น งานทะเบียนประวัติพนักงาน (Personnel) การจ่ายเงินเดือน (Payroll) การควบคุมเวลาเข้าออกงาน (Time Attendance) เป็นต้น
3. ระบบเสริมอื่น ๆ (Additional Hotel System)
ส่วนใหญ่เป็นระบบที่ช่วยงานด้านการตลาดและการขายส่วนใหญ่ โดยขอลิสต์รายชื่อหลัก ๆ ดังนี้
3.1 ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management)
CRM มุ่งเน้นในด้านการรักษาลูกค้าและช่วยให้ลูกค้ามีประสบการณ์การเข้าพักจากโรงแรมที่ดีขึ้น อาจมีเชื่อมโยงกับข้อมูลระบบ PMS หลักของโรงแรม / หรือระบบบริหารจัดการรายชื่อผู้ติดต่อในระบบอื่น ๆ ที่ใช้งานอยู่ก็ได้
การจัดจำหน่ายห้องพักของโรงแรมให้มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญและการดำเนินการในธุรกิจโรงแรมปัจจุบันนั้นต้องมีความรวดเร็ว สะดวกสบายแก่ลูกค้าในการค้นหาและจับจองห้องพัก ดังนั้นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายห้องพักในหลายๆช่องทาง เป็นกุญเเจสำคัญในความสำเร็จของธุรกิจโรงเเรม โดยจำเป็นต้องมีทั้งช่องทางออนไลน์ (Online)และช่องทางธรรมดาแบบเดิม ออฟไลน์ (Offline) การกำหนดกลยุทธ์และบริหารห้องพักที่ว่างให้เหมาะสมและพอดีในแต่ละช่องทาง จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าโรงแรมจะสามารถที่จะเพิ่มรายได้ / เพิ่มการรับรู้ของลูกค้า และเพิ่มกำไรในบรรทัดสุดท้ายต่อไป
เรามาดูช่องทางการจำหน่ายห้องพักของโรงแรม ณ. ปัจจุบันมีอะไรบ้าง ? ทั้งแบบออฟไลน์ (หัวข้อ 3.2) และ แบบออนไลน์ …
3.2 ระบบจองกลางของโรงแรม (Central Reservation Systems)
ระบบจัดการการจองกลางของโรงแรม คือ ระบบที่แผนกสำรองห้องพักใช้ในการจัดการการจองห้องพักจากทุกช่องทางไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์ ซึ่งระบบจะนำข้อมูลห้องทั้งหมดมารวมเอาไว้ในที่เดียวเพื่อให้จัดการง่ายและให้จัดการข้อมูลทันสมัยอยู่เสมอ ขั้นตอนการทำงานของระบบจอง มีดังนี้
- ตรวจสอบความสามารถในการให้บริการ (Check Availability)
- เลือกประเภทของผลิตภัณฑ์/บริการและราคา (Product/Service and Rate)
- ดำเนินการจอง (Booking)
- ยืนยันข้อมูล (Confirmation)
สำหรับช่องทางจำหน่ายห้องพักที่มักใช้ระบบจองกลางของโรงแรม ส่วนใหญ่จะเน้นการขายผ่านช่องทางออฟไลน์ต่างๆ เป็นหลัก มีดังนี้
- จองผ่านแผนกจองของโรงแรม ผ่านการออกบูทท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการติดต่อกับ จนท. โรงแรมโดยตรง ไม่ต้องผ่านนายหน้า
- ระบบโทรศัพท์ (Call Center) ถือว่าเป็นการจองห้องพักโรงแรมตรงชนิดหนึ่งที่ไม่ผ่านคนกลางในการขาย
- เอเจนท์ท่องเที่ยว (Travel Agents) คือ ผู้ที่นำห้องพักของโรงแรมไปขายต่ออีกทีซึ่งอาจขายได้หลายรูปแบบทั้งขายตรงหรือขายพ่วงกับทัวร์ก็เป็นได้
3.3 ระบบการจัดจำหน่ายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Distribution System)
3.3.1 ระบบจำหน่ายแบบเบ็ดเสร็จทั่วโลก (Global Distribution System)
ระบบ GDS นี้เดิมทีพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายตั๋วเครื่องบินของสายการบินพาณิชย์ทั่วโลก แล้วต่อมามีการพัฒนาระบบมารองรับการจองห้องพักโรงแรม ตลอดจนสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวอื่นๆ สำหรับ Travel Agent ด้วย
การใช้ช่องทาง GDS ในการจัดจำหน่ายห้องพักโรงแรมนั้น โรงแรมต้องติดต่อกับผู้ให้บริการช่องทาง ที่จะเป็นคนกลางในการจัดสร้างฐานข้อมูลและรายละเอียดของโรงแรมในระบบ รวมถึงจัดเตรียมการกำหนดราคาห้องและการสำรองห้องพักให้กับกลุ่มผู้ร่วมงานที่มีสายการบินทั่วโลกโรงแรมและการเดินทางอื่น ๆ แล้วทำการเชื่อมต่อข้อมูลไปสู่ผู้ให้บริการระบบจัดจำหน่ายที่ให้บริการกับ Travel Agents ต่างๆ เพื่อทำการจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าต่อไป รายชื่อผู้ให้บริการ GDS ได้แก่ Galileo, Amadeus, Sabre, Worldspan เป็นต้น
3.3.2 ระบบจำหน่ายผ่านอินเตอร์เนต (Internet Distribution System)
การจัดจำหน่ายห้องพักผ่านทาง IDS นั้น มีลักษณะการจัดจำหน่ายใกล้เคียงกับการจัดจำหน่ายผ่านทางระบบ GDS แต่มีความแตกต่างกันตรงที่
- ไม่ต้องใช้งานผ่านเครื่อง Terminal ของผู้ให้บริการระบบ
- รองรับการจัดจำหน่ายทั้งแบบ B2B และ B2C
- นำเสนอการขายห้องพักโรงแรมนั้นโรงแรมเดียว ไม่มีการเปรียบเทียบข้อมูลต่าง ๆ (ขนาดโรงแรม/ดาว/ของอำนวยความสะดวก/ราคา) จากหลายๆ โรงแรมเหมือน OTAs
- การทำธุรกรรม (Transaction) ในการชื้อขายต่างๆ เป็นการทำตรงกับทางโรงแรม ไม่ได้ทำผ่านผู้ให้บริการ หรือ Travel Agents แต่อย่างใด ทางโรงแรมสามารถบริหารจัดการระบบได้คล่องตัว
- ตัวอย่างรายชื่อผู้ให้บริการ IDS
- priceline.com
- orbitz.com
- conferencehotel.com
- easyres.com
- hoteltravel.com
3.3.3 ระบบบริหารจัดการห้องพักและจัดสรรจำนวนห้องพักที่จะเปิดขาย (Channel Manager)
ระบบบริหารจัดการห้องพักและจัดสรรจำนวนห้องพักที่จะเปิดขายในแต่ละช่องทางการขาย ระบบนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะการเติบโตของตลาด OTA (Online Travel Agent) นั่นเอง ยิ่งโรงแรมมีความต้องการขายห้องพักผ่าน OTA หลายราย ระบบ Channel Manager ก็จะมีประโยชน์ในการช่วยจัดสรรเรื่องจำนวนห้องที่จะขายและราคาที่จะขายในแต่ละช่องทาง ช่วยประหยัดเวลา ไม่ต้องเข้าไปทำทีละราย ซึ่งจะใช้เวลามากๆในการทำงานในแต่ละวัน
หลักการทำงานของ Channel Manager คือการรวมจำนวนห้องพักทั้งหมดไว้ เรียกว่า Room Inventory และระบบจะทำการเชื่อมต่อกับช่องทางการขายที่โรงแรมได้สร้างไว้กับ OTAs ต่างๆ รวมไปถึงเว็บไซต์ของโรงแรม (Hotel Website+Internet Booking Engine) เอง
ก่อนที่จะทำการเชื่อมโยงได้ เราก็ต้องตรวจสอบก่อนว่า S/W Channel Manager ที่เราต้องการใช้นั้นมี feature อะไรบ้าง / สามารถเชื่อมต่อ OTA อะไรบ้าง / มีข้อจำกัดหรือไม่ อย่างไร / คิดค่าบริการอย่างไร (เหมาจ่ายรายเดือน / คิดเป็น % ยอดจองห้องพัก)
Channel Manager ควรรองรับการทำงาน
- กำหนดจำนวนห้องพักที่ต้องการขายในแต่ละช่องทางการขาย
- กำหนดราคาขายห้องพักแต่ละประเภทในแต่ละช่องทางการขาย
- กำหนดการปิด/เปิดการขายเฉพาะวัน หรือเฉพาะช่วงเวลาตามเทศกาล
- กำหนดเงื่อนไขการเข้าพัก การห้ามเข้าพัก (Close to Arrival) ณ วันใดวันหนึ่ง หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือการห้ามเช็คเอ้าท์ (Close to Departure) ณ วันใดวันหนึ่ง หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
- ติดตามผลการจองห้องพักในแต่ละช่องทางการขาย เพื่อนำมาปรับปรุงเรื่องการบริหารจัดการจำนวนห้องพัก (Room inventory) และเรื่องราคาขาย (Selling rate) ไปจนถึงการเล่นราคา (Dynamic Rate) เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของราคาที่เหมาะสมกับอัตราการเข้าพักในแต่ละช่วงเวลา
- มีรายงานสรุปยอดการจำหน่าย
รายชื่อ S/W Channel Manager อันไหนดี ได้รับความนิยมปัจจุบัน ณ. วันที่เขียนบทความนี้คือ
- SiteMinder ประเทศออสเตรเลีย เปิด office ที่กทม. แล้ว
- The Channel Manager (Hoteliers.Guru) ถ. พังงา จ.ภูเก็ต
- Ace Hotel System จ.เชียงใหม่
เอเจนท์สำหรับการจองห้องพักออนไลน์ (Online Travel Agent)
OTA เป็นเอเจนท์ออนไลน์ที่โรงแรมใช้เป็นช่องทางการขายแบบ B2C ผ่านช่องทางอินเตอร์เนต เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ช่วงวัยของกลุ่มลูกค้าปัจจุบันต่างใช้วิธีการหาห้องพัก หรือจองห้องพักทางอินเตอร์เนตกันส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด จึงทำให้บริษัท OTA เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง พบว่าบางโรงแรมสัดส่วนการเข้าพักจากลูกค้าที่จองห้องผ่าน OTA มากถึง 70% หรือโรงแรมขนาดเล็ก บางทีอาจเกิน 80% ด้วยซ้ำไป
โดยรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัท OTA ก็จะคล้าย ๆ กับ travel agent ทั่ว ๆ ไป เพียงแต่แทนที่จะได้ราคา contract rate แล้วนำไป mark up ราคา จะกลายเป็นได้ราคาขายจากโรงแรม และเมื่อทำการขายได้ OTA จะได้ commission จากโรงแรมตามจำนวนที่ตกลงกัน ช่องทางนี้มีต้นทุนสูงสุดสำหรับโรงแรม โดยโครงสร้างค่าคอมมิชชั่นโดยปกติแล้วจะมีต้นทุนได้ถึง 10% ถึง 25%
- โรงแรมแบรนด์ดัง มักมีข้อตกลงและโครงสร้างค่าคอมมิชชั่นกับ OTAs ต่างๆ ถูกกว่าโรงแรมทั่วไป จะมีตั้งแต่ 10 ถึง 20% ขึ้นอยู่กับแบรนด์และข้อตกลงต่างๆ
- ส่วนโรงแรมอิสระ ไม่มีเชน อำนาจต่อรองอาจน้อยลงเพราะจำนวน volume ห้องพักมีน้อย ทำให้มีค่าใช้จ่ายค่าคอมมิชชั่นสูงขึ้นสำหรับโรงแรมอิสระมีตั้งแต่ 15% ถึง 25%
ตัวอย่างเว็บไซต์ OTA ได้แก่
- Expedia.com
- Agoda.com
- Booking.com
- Hotels.com
- Expedia.co.th
- Trivago.co.th
- Traveloka.com
- Kayak.com
- Zizzee.com
3.3.4 เว็บไซต์ของโรงแรม (Hotel Official Website)
เว็บไซต์โรงแรมเป็นช่องทางการขายที่ไม่ต้องผ่านนายหน้า ซึ่งลูกค้าสามารถจองตรงบนหน้าเว็บไซต์ได้เลย แต่สิ่งที่จะทำให้ประสบการณ์ในการจองของลูกค้าง่ายขึ้น คือ การที่โรงแรมติดตั้งปุ่มจองห้องพักแล้วให้ลูกค้าจองโดยการกรอกข้อมูลลงไปที่หน้าเว็บได้เลย ผ่านการทำงานของ Booking Engine ซึ่งขั้นตอนการจองห้องพักจะไม่ยุ่งยาก ไม่กี่ขั้นตอนเอง
Booking Engine คือ ระบบจัดการห้องพัก รับจองห้องพักสำหรับโรงแรมที่ต้องการให้ลูกค้าสามารถเช็คและจองห้องพักที่ว่างในวันและเวลาที่ลูกค้าต้องการแบบได้คำตอบทันที เพราะระบบจะจัดสรรจำนวน ประเภทห้องพักและราคาขายตามที่เรากำหนดในแต่ละช่วงเวลา ลูกค้าไม่ต้องรอ สามารถตัดสินใจทำรายการได้ทันที
3.3.5 Mobile App
โมบายแอพเป็นช่องทางที่ยังใหม่อยู่สำหรับโรงแรม เฉพาะโรงแรมเชนขนาดใหญ่เท่านั้นที่มีการลงทุนพัฒนาแอพพลิเคชั่นมือถือเป็นของตัวเอง โดยส่วนมากโรงแรมทั่วไป จะไปเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Media แทน
สำหรับการจองห้องพักผ่านโมบายแอพ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กำลังมาแรงเพราะสามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ได้ดี
3.3.6 โซเชียลมีเดีย (Social media)
เป็นที่ทราบกันดีว่าคนไทยเรานิยมเล่นโซเชียลมีเดีย ติดระบบโลกเหมือนกัน เพราะคนไทยเราเรียนรู้เร็ว หัวไว ^-^ สำหรับรายชื่อ Social Media ที่มีการใช้งานกันเยอะ หลักๆ ได้แก่ Facebook, Line และ Instagram ดังนั้น
- Facebook Page เป็นช่องทางออนไลน์ที่โรงแรมใช้ทั้งในการขายและการตลาด โดยโซเชียลมีเดียสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างและยังมีต้นทุนที่ไม่สูงนัก
- นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Line@ ช่วยในการ broadcast message โปรโมชั่นไปยังกลุ่มลูกค้าของโรงแรมได้รวดเร็วแบบถึงตัว อีกด้วย
- ลงรูปภาพห้องพัก/อุปกรณ์อำนวยความสะดวก/วิวยามอาทิตย์ขึ้น/ตก, งาน Festival / Event สำคัญๆ ของโรงแรมผ่าน Instagram ก็ดูเป็นเครื่องมือที่ร่วมกับ Official Website ทำให้ส่งภาพผ่านตาลูกค้ามากขึ้นได้เหมือนกันนะครับ
4. แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- [academia.edu] เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวของธุรกิจโรงแรม
- [smartfinder.asia] ช่องทางการขายห้องพักโรงแรมมีอะไรบ้าง? – Hotel Distribution Channels
- [thethinkwise.com] ระบบบริหารจัดการต่างๆของโรงแรม
บทความต่อไป เราจะไปดูรายชื่อซอฟต์แวร์สำหรับระบบบริหารโรงแรม ดูว่าชื่ออะไรบ้าง จะได้ลงลึกรายละเอียดถัดไป
ปล. หากข้อมูลไม่ถูกต้องในส่วนใด ต้องขออภัยไว้ด้วยนะครับ เพราะส่วนตัวทำเป็น checklist รายการไว้เจาะหาข้อมูลลงลึกต่อไป ทั้งนี้พยายามหาข้อมูลให้มากที่สุดตามที่จะพอค้นได้แล้วครับผม จากคน IT นอกโรงแรม !